กระทรวงแรงงานแนะนายจ้างกำชับแรงงานเมียนมาที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทย ตามมติครม. 13 ก.ค.64 วางแผนเข้ารับบริการที่ศูนย์ CI โดยเร็ว หลีกเลี่ยงความแออัดจากการใช้บริการพร้อมกันช่วงใกล้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน สังคมโดยรวมของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติจำนวนมากที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย จากอุปสรรคที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อจัดทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ได้นั้น เป็นปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแก้ไข เนื่องจากจะส่งผลให้การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย หากแรงงานต่างด้าวไม่มีเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ฉบับใหม่ เพื่อขอตรวจลงตราอยู่ต่อในราชอาณาจักรกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในกำหนดเวลา
โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และการป้องกันไม่ให้นายจ้าง/สถานประกอบการที่ใช้แรงงาน 3 สัญชาติ ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานสัญชาติเมียนมาที่เป็นกลุ่มแรงงานที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งการจัดตั้งศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ในประเทศไทยทั้ง 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ระนอง สมุทรปราการ และสมุทรสาครนั้น จะทำให้แรงงานเมียนมาสามารถขอรับเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับใหม่โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศของตน หลีกเลี่ยงความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายจากการกักตัวตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่จะเกิดกับนายจ้างได้
ทั้งนี้ขอความร่วมมือแรงงานสัญชาติเมียนมาตามมติครม. วันที่ 13 ก.ค.64 มาดำเนินการตามขั้นตอนภายในวันที่ 1 ส.ค. 65 ณ ศูนย์ CI ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ทำงานของแรงงานเมียนมาหรือศูนย์ CI ที่สามารถเดินทางได้สะดวก เพื่อให้มีเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ในการขออยู่ต่อและทำงานในราชอาณาจักรต่อไปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ตามมติครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 มีเป้าหมายให้บริการแก่แรงงานสัญชาติเมียนมาที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทย และถือเอกสารรับรองบุคคล (CI) จำนวนประมาณ 8 – 9 แสนราย โดยแรงงานที่ประสงค์เข้ารับบริการที่ศูนย์ CI กลุ่มดังกล่าว ขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
1.แรงงานเมียนมานำเอกสาร CI ฉบับเดิม ดำเนินการชำระเงินค่าธรรมเนียมการออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 – 11 โดยชำระค่าบริการ จำนวน 310 บาท หรือกรณีเอกสารรับรองบุคคลฉบับเดิมสูญหายหรือชำรุด ชำระเงินค่าธรรมเนียมการออกเอกสารรับรองบุคคลฉบับใหม่ รวมเป็นเงินจำนวน 480 บาท เมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว สามารถลงทะเบียนนัดหมายล่วงหน้า โดยจะได้รับใบเสร็จที่ระบุวันนัดหมายเพื่อไปดำเนินการ ณ ศูนย์ CI ซึ่งมีการกำหนดจำนวนผู้มาใช้บริการต่อวัน ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคที่แต่ละจังหวัดกำหนด
2.ในวันนัดหมายให้แรงงานเมียนมานำใบเสร็จมาขอรับการดำเนินการที่ศูนย์ CI โดยทางศูนย์มีบริการตรวจหาเชื้อ COVID – 19 ด้วยวิธี ATK
3.ขอรับเอกสารรับรองบุคคล (CI) โดยเจ้าหน้าที่จากทางการเมียนมา ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสัญชาติ จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometric Data) และออกบัตรประจำตัวให้แรงงานต่างด้าว
4.ทางการไทย โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน หากดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานแล้ว จะตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ ระหว่างที่ยังไม่มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ให้ทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย หรือประกันสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกรณีที่ยังไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงาน ให้ยื่นคำขอตามแบบ บต. 50 พร้อมเอกสารและหลักฐาน พร้อมชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,000 บาท
5.สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราเพื่ออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยแรงงานเมียนมาต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม จำนวน 1,900 บาท ณ ศูนย์ CI และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ตามมติครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64
สำหรับศูนย์ CI เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม – 1 สิงหาคม 2565 โดยเปิดทำการในวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 09.00 – 17.30 น. และหยุดทำการในวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม – 17 มกราคม 2565 มีผู้มาดำเนินการจัดทำหนังสือรับรองบุคคล (CI) ทั้งสิ้น 6,688 คน แบ่งเป็นศูนย์ CI จังหวัดสมุทรปราการ 3,127 คน สมุทรสาคร 2,522 คน เชียงใหม่ 406 คน ชลบุรี 320 คน และระนอง 313 คน โดยมีการจองคิวนัดหมายล่วงหน้าเพื่อเข้าใช้บริการแล้ว 17,428 คน ซึ่งนอกจากการรับบริการขอเอกสารรับรองบุคคล (CI) จากทางการเมียนมา และการยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงาน กับกรมการจัดหางานแล้ว แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์เปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาตทำงาน เช่น การเปลี่ยนนายจ้าง หรือการเปลี่ยนที่อยู่ สามารถยื่นคำขอเปลี่ยนรายการฯ ตามแบบ บต. 44 ณ ศูนย์ CI ได้ โดยชำระค่าธรรมเนียมฯ 400 บาท
โดยกรมการจัดหางานจึงขอให้นายจ้างกำชับแรงงานเมียนมาในความดูแล ให้มาดำเนินการโดยเร็ว หรือวางแผนวันและเวลาการเข้ารับบริการให้ดี เนื่องจากศูนย์ CI มีการจำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการต่อวันตามมาตรการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด (ประมาณวันละ 450 – 500 ราย) หากทุกคนพร้อมใจเข้ารับบริการพร้อมกันในช่วงใกล้วันครบกำหนดอาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้ทัน ทั้งนี้ ศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตไห้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ทั้ง 5 แห่ง มีสถานที่ตั้ง ดังนี้
1.จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ที่ ตลาดสยามนินจา ทางหลวงชนบทหมายเลข ชบ.3023 ตำบลหนองหงษ์ อำเภอพานทอง
2.จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 138 หมู่ 4 ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่
3.จังหวัดระนอง ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 89/296 หมู่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง
4.จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 339/2 หมู่ 9 ซอยสุขสวัสดิ์ 74 อำเภอพระประแดง
5.จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ที่ บริษัท มหาชัย ออโต้ เพ้นท์ จำกัด เลขที่ 32/8 ถนนเศรษฐกิจ 1 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร
อ้างอิง
https://siamrath.co.th