เปิดเกณฑ์การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกล่าสุด อัพเดตเงื่อนไขใช้บริการ “Hospitel” สบส.ย้ำมีเตียงพอ ขณะสปสช.ขอรพ.เอกชนอย่าเก็บค่ารักษาผู้ป่วย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. ระบุถึงสถานการณ์เตียงใน Hospitel กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อการรักษาผู้ป่วยจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ มีประมาณ 116 แห่ง ทั้งหมด 30,000 เตียง ขณะนี้ ยังมีจำนวนเตียงว่างเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาก็มี Hospitel ทยอยปิดตัวลงไปบ้าง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้บริการ
สำหรับกรณีประชาชนที่จะเข้ารักษาใน Hospitel ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เป็นผู้ประเมินอาการ และสภาพแวดล้อมที่บ้านด้วย ส่วนกรณีการซื้อประกันสุขภาพ หรือประกันโควิด-19 ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการพูดคุยกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการ ประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ถึงการวินิจฉัยอาการโรค หากพบติดเชื้อ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพราะถือเป็นสถานพยาบาลประเภทหนึ่งในการรักษา ผู้ป่วย คนไข้ที่ติดเชื้อมีสิทธิที่จะได้การคุ้มครองดูแล ตามสิทธิประกันต่าง ๆ ที่ได้มีการซื้อไว้
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน อย่าเรียกเก็บค่ารักษาผู้ป่วยโควิด พร้อมย้ำว่า ภาครัฐพร้อมออกค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยทุกคน ส่วนกำหนดอัตราจ่ายค่าบริการให้แก่โรงพยาบาล ทั้งการตรวจและการรักษา รวมไปถึงค่าที่พักอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel โดยค่าใช้จ่าย Hospitel ดังนี้
1.ค่าตรวจแบบ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท/ครั้ง2.ค่าเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 100 บาท/ครั้ง3.ค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ 600 บาท/ครั้ง4.ค่ายารักษาผู้ป่วยใน จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย5.ค่าห้องดูแลการรักษารวมค่าอาการ จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาท/วัน6.ค่าห้องความดันลบหรือห้อง ICU ซึ่งเป็น UCEP COVID-19 หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตกรณีโควิด วันละ 5,000 บาท7.ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 และสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospitel) จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาท/วัน8.ค่ายานพาหนะรับส่งจ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายของสำนักงานฯ9.ค่าอุปกรณ์รวมค่าทำความสะอาดยานพาหนะเพื่อฆ่าเชื้อ 3,700 บาท/ครั้งเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากตัวอย่างของการเข้ารับการรักษาโควิด ในโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง พบว่า ผู้ป่วยโควิด จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เช่น ค่าห้องและอาหาร ในกรณีค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยโควิดสูงเกินมาตรฐานราคากลาง ปฏิเสธการส่งตัวไปยังฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาลเครือข่าย และเลือกเข้ารักษาตัวในห้องเดี่ยว หรือห้องพิเศษ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากสิทธิของรัฐบาล ที่ครอบคลุมเฉพาะห้องร่วม ห้องคู่ และห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยวิกฤตเท่านั้น
อ้างอิง
https://www.posttoday.com