EXIM BANK หนุนธุรกิจ BCG ดันปล่อยสินเชื่อ 1.5 แสนล้านภายในปี 67

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

EXIM BANK เดินหน้าดันพอร์ตสินเชื่อโต 2 แสนล้านภายในปี 67 คุมหนี้เสียไม่เกิน 3% พร้อมแบ่งชัด 75% หรือกว่า 1.5 แสนล้าน หนุนธุรกิจ BCG ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว-ดิจิทัล-สุขภาพ

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยในปี 65 เป็นทิศทางขึ้น แต่ในส่วนของเอ็กซิมแบงก์จะพยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยให้ช้าที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าของธนาคาร เช่นเดียวกับ ทิศทางของหนี้เสีย หรือ NPL ในปี 65 จะเป็นปีที่เป็นหนี้เสียของจริง เพราะมาตรการพักชำระหนี้ของหลายแบงก์ได้สิ้นสุดไปแล้ว และเริ่มให้ลูกหนี้กลับมาผ่อนชำระหนี้ตามปกติ ดังนั้นจะเห็นตัวเลข NPL ในระบบเพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

“หนี้เสีย หรือ NPL ปี64 เอ็กซิมแบงก์จบที่ 2.73% ต่ำกว่าหนี้เสียในระบบที่อยู่ที่ 5% เนื่องจากได้ขายหนี้ที่แก้ไม่ได้ออกไป ขณะที่ NPL ของเอ็กซิมแบงก์ปี 65 นี้ ถ้ามีไม่มาตรการรัฐเพิ่ม ก็คาดว่าจะไม่เกิน 3% เพราะส่วนหนี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นหนี้ดี” นายรักษ์ กล่าว

นายรักษ์ กล่าวอีกว่า เอ็กซิมแบงก์มีนโยบายมุ่งเน้นบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Bank) โดยตั้งเป้า เพิ่มจำนวนลูกค้าปีละไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย หรือ เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่าต่อปี และมีพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่ 165,000 ล้านบาท เป็น 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 ภายใต้ NPL หรือ หนี้เสียไม่เกิน 3% ของพอร์ต โดยแบ่งสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อ 75% หรือ 150,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวกับ BCG ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health) ซึ่งปัจจุบันได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 75,000 ล้านบาท และ สัดส่วนอีก 25% หรือ 50,000 ล้านบาท จะเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SME ส่งออก

 

“สัดส่วนสินเชื่อในพอร์ต 75% เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวกับ BCG ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตได้ดีในอนาคต เช่น EV เอ็กซิมแบงก์ได้เข้าไปดูแลสินเชื่อในกลุ่ม Automation ซึ่งการเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ EV กระทบทำให้วัสดุอุปกรณ์ในรถยนต์ 1 คันจากเดิมที่ต้องมี 20,000 ชิ้น ลดเหลือ 700 กว่าชิ้นเท่านั้น แต่ในจำนวนนี้ มี 300-400 ชิ้น ที่เป็นวัสดุใหม่ ตั้งแต่ ลวด สายไฟ แบตเตอรี่ ซึ่งเอ็กซิมได้เข้าไปดูแลสินเชื่อในส่วนนี้ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา” นายรักษ์ กล่าว

 

โดยในปี 65 เอ็กซิมแบงก์ยังเดินหน้าขยายวงเงินสินเชื่อ ผ่านการให้สินเชื่อแบบใหม่ หรือการพิจารณาสินเชื่อผ่านระบบเทคโนโลยี โดยใช้ระบบ Credit Scoring เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว ลดเวลาในการอนุมัติสินเชื่อเหลือเพียง 3 ชม. จากรูปแบบเดิมที่ต้องยื่นเอกสารและใช้การพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ ประมาณ 3 วัน ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบแล้ว สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยในปี 65 จะขยายวงเงินอนุมัติสินเชื่อเป็น 20 ล้านบาท ก่อนจะขยายเพิ่มเป็น 25 ล้านบาท และ 30 ล้านบาทตามลำดับ

ขณะที่ผลดำเนินงานในปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,531 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี มีสินเชื่อคงค้าง 152,773 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 17,545 ล้านบาทหรือ 12.97% ซึ่งเป็นผลงานด้านสินเชื่อที่สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 28 ปี แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 40,259 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 112,514 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 13.50% จากปีก่อน โดยการให้สินเชื่อทั้งหมดของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 196,726 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 70,797 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.99%

 

มีวงเงินสะสมสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 102,152 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 66,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,870 ล้านบาทหรือ 17.50% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ New Frontiers รวมถึง CLMV โดยปี 2564 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 50,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,312 ล้านบาทหรือ 25.94% เมื่อเทียบกับปีก่อนขณะที่ปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 153,466 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นถึง 18,394 ล้านบาท หรือ 13.62% เมื่อเทียบกับปีก่อน และช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 12,800 ราย ด้วยวงเงินรวมประมาณ 73,800 ล้านบาท

 

ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 2.73% ลดลงจาก 3.81% ณ สิ้นปี 2563 โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 4,166 ล้านบาท แต่มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 11,670 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 280.11%

 

นอกจากนี้ ในปี 2564 EXIM BANK ยังได้รับอนุมัติเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4,198 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยได้รับเงินแบ่งจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 2,198 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2564 และงวดที่ 2 อีกจำนวน 2,000 ล้านบาทภายในปี 2565

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market